Last updated: 1 มี.ค. 2567 | 1045 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดหลังสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มตามลักษณะอาการ
ปวดแบบไม่รุนแรง ระดับคะแนนความปวด (1-7 คะแนน) หากอาการปวดอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การยกของหนัก การลื่นล้ม โดยส่วนมากสามารถทานยารักษาให้ดีขึ้น หรือหายเองได้ภายใน 3-5 วัน แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
ปวดแบบรุนแรง ระดับคะแนนความปวด (8-10 คะแนน) เป็นกลุ่มของอาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน รุนแรง และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก สาเหตุอาจเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น เส้นเลือดแดงโป่งพอง อาการที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินอาหาร เกิดโรคนิ่วในไต หรืออาการเกี่ยวกับระบบกระดูก ได้แก่ กระดูกยุบ หรือหมอนรองกระดูกปลิ้น เป็นต้น
ปวดแบบไหนควรรีบมาพบแพทย์
ปวดรุนแรงฉับพลัน แบบไม่ปกติ ไม่เคยปวดมาก่อนในชีวิต สาเหตุอาจเกิดจากเส้นเลือดแดงโป่งพอง หมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาทฉีกขาด หรือกระดูกยุบ
ปวดแบบรบกวนกิจวัติประจำวัน (ลุก นั่ง ยืน เดิน) สามารถทานยารักษาแบบประคับประคองแล้วหายภายใน 3-5 วันได้ แต่ถ้าเกินกว่านั้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
มีอาการชา อ่อนแรง ไม่สามารถขยับร่างกายได้ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบมาพบแพทย์
ปวดหลังรักษาได้…ไม่เห็นต้องทนปวด
แพทย์จะทำการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของอาการของโรคที่ถูกต้อง และแยกระดับความรุนแรงของอาการ เพื่อให้สามารถเลือกใช้วิธีการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อทำการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้วควรมีการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย เพื่อช่วยบรรเทาอาการและเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบกล้ามเนื้อและป้องกันการเกิดโรคซ้ำ
ไม่อยากทรมานกับอาการปวดหลัง…ต้องป้องกันไว้ก่อน
อาการปวดหลังส่วนมากเกี่ยวข้องกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น การยกของหลัก การนั่งทำงานนานๆ ดังนั้นควรเลี่ยงกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการปวดหลัง หรือหากจำเป็นควรมีวิธีการป้องกันที่เหมาะสม นอกจากนี้ควรมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก แต่หากมีอาการเกิดขึ้นไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ เพราะอาจเกิดเป็นอาการเรื้อรังที่ทำให้ยากในการรักษา
หากสังเกตตัวเองแล้วว่ามีอาการผิดปกติจากการปวดรุนแรงควรรีบพบแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานเพราะหากมีอาการปวดจนไม่อยากขยับร่างกาย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดแผลกดทับและนำไปสู่โรคร้ายได้